โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ขอนแก่น ปัตตานี และแม่ฮ่องสอน ผนึกกำลังจัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีต่อผู้รับบริการและญาติ ต่อยอดจากการอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) โดยกระทรวงสาธารณสุขและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 โรงพยาบาลธัญญารักษ์ส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และทีมเชื่อมประสานใจ Care D+ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวคิดและทักษะด้านการสื่อสารในการบริการ มุ่งเน้นในการดูแลและปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ป่วยและญาติให้มีประสิทธิภาพและความพึงพอใจ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ที่ต่อยอดจากการอบรมในรูปแบบคอร์สเรียนออนไลน์ พร้อมประกาศนียบัตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ประหนึ่งเป็นญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร ตามแนวคิดหลักของโครงการ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ทั้ง 4 แห่ง ได้มีการตั้ง Care D+ Team ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรในการบริการ โดยยึดหลักของใจเขาใจเรา เพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานใจระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน สอดประสานความรู้สึกที่ดีและมีความเห็นอกเห็นใจ ลดช่องว่างการสื่อสารและความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น โดยมุ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล เปรียบเสมือนเป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ที่ช่วยให้คำปรึกษาและเป็นหนึ่งในที่พึ่งทางใจให้แก่ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับญาติผู้ป่วยที่มีความกลัวและวิตกกังวลเมื่อมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ลดความไม่เข้าใจระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น เปิดเผยว่า โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น กรมการแพทย์ ได้นำนโยบายมาสร้างทีม "ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร" ภายใต้ชื่อ TYRKK Care D+ เพื่อให้บทบาทในการให้คำปรึกษาและเข้าใจผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้บางครั้งมีความกังวลและความกลัวในการรับการบำบัด รวมถึงการใช้ยาเสพติดภายในโรงพยาบาลตลอดระยะเวลาการรักษา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่นได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และจึงจัดทีม TYRKK Care D+ เพื่อให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่เป็นมิตรต่อผู้ป่วย รวมทั้งรับฟังและเข้าใจทุกปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้รับมาประชุมเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา เช่น การปรับปรุงสภาพหอผู้ป่วยด้วยการติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมความรุนแรง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยสนใจ เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกาย ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์ด้านกีฬา การฝึกทักษะการทำอาหารและเบเกอรี่โดยโภชนาการ และการฝึกอาชีพทางด้านการตัดเย็บและเกษตรกรรม ด้วยการดูแลเชิงอาชีวบำบัด เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจของผู้ป่วย และสร้างความมั่นใจให้พร้อมที่จะกลับสู่ชุมชนและครอบครัวของตนอีกครั้ง โดยการปรับเปลี่ยนทั้งความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย เป็นต้น
แสดงความเห็น