K-Engineering WiL...ทำได้ วิศวลาดกระบัง...ถึงได้ทำ
เดินหน้าต่อเนื่อง สร้าง Gen Engineering Model ตอบโจทย์บริษัทชั้นนำภาคอุตสาหกรรม
ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสามารถในการเพิ่มทักษะหรือขยายฐานความรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่จำเป็นต้องมีหลากหลายรูปแบบและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับทุกคนเป็นการเรียนรู้ที่เน้นทักษะสำคัญและบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้มีศักยภาพ มีทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นอาวุธติดตัว เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ผ่านการทำด้วยตัวเอง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล มีหลักสูตรหลากหลาย across discipline รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการสหกิจศึกษา Industrial Experience for Engineering ที่นักศึกษาสามารถเข้าฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่องนานถึง 1 ปี และในปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล ได้เพิ่มหลักสูตร Work-integrated Learning ของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการในชื่อหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ หรือ IPE (Integrated Production Engineering) เพื่อสร้างบัณฑิตที่ตรงตามความต้องการของภาครัฐและเอกชน ผ่านการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน
รองศาสตรจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “จากนโยบาย Global Learning และ Global Citizen มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีและปฏิบัติจริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการ K-Engineering Work-integrated Learning หรือ K-Engineering WiL ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นับเป็นหนึ่งในการ disrupt ทางการศึกษาและมุ่งสู่ความเป็น Global และ Practical engineer ตอบโจทย์ The World Master of Innovation อย่างแท้จริง”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ โครงการ “K-Engineering WiL (K-Engineering Work-Integrated Learning) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล” เป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) สนับสนุนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) แล้ว ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาคีภาคอุตสาหกรรม (Industrial Consortium) มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สามารถนำความรู้พื้นฐานและเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม โดยมีหลักสูตรนำร่องหลายหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร (ต่อเนื่อง) หลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ มีการส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งในภาคอุตสาหกรรมและตัวน้องๆ นักศึกษาเอง”
ดร.พลชัย โชติปรายนกุล หัวหน้าโครงการ K-Engineering WiL และประธานหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ หรือ IPE (Integrated Production Engineering) กล่าวว่า “หลักสูตร IPE เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว เป็นหลักสูตรร่วมระหว่างภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและภาคอุตสาหกรรมชั้นนำมากกว่า 14 บริษัท โดยนักเรียนที่สนใจสามารถเลือกเรียนหลักสูตรนี้ได้ จากการคัดเลือกในระบบ TCAS โดยนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตร IPE จะต้องเข้าโครงการ K-Engineering WiL (K-Engineering Work-Integrated Learning) ทุกคน การเรียนการสอนในปีที่ 1 และ 2 จะเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎี ส่วนปีที่ 3 และ 4 จะได้เรียนพร้อมกับทำงานจริงกับบริษัทชั้นนำ ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ได้ออกแบบร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องทั้งทางทฤษฎีและการลงมือปฎิบัติจริง เน้น core skill ด้านการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และเรียนรู้ทักษะแก้ปัญหาจริงจากหน้างาน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร โดยตลอดระยะเวลานักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนรวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากทางบริษัทฯ โดยมีทีมอาจารย์เป็นผู้กำกับร่วมกับบริษัทฯ เพื่อวัดผลในรายวิชาต่างๆ ในปีนี้มีนักศึกษาที่จบชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตร IPE ที่จะได้เข้าปฏิบัติงานกับ 3 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ 1. บริษัท ไทยคูณ สตีล จำกัด จำนวน 3 คน 2. บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 5-6 คน 3. บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด จำนวน 3 คน
นายณฐพัฒน์ (วิว) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการผลิตเชิงบูรณาการ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมดีใจที่ตัดสินใจมาเรียนที่นี่ จากที่เคยมา Open House ได้ดูงานและเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทำให้เกิดไอเดียกับเพื่อนๆ อยากสร้างชิ้นงานที่มีมูลค่าเพิ่มจากเหล็ก จึงทำโปรเจคส่งประกวด โดยได้เข้าไปพูดคุย ปรึกษากับพี่ๆ เพื่อที่ทำให้ไอเดียมันใหญ่มากขึ้น ทำให้ได้มุมมองวิสัยทัศน์ที่ดี จนปัจจุบันชิ้นงานของเรากำลังเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแล้ว ผมว่าหลักสูตร WiL ท้าทายวิศวะ Gen.ใหม่แบบผม ทั้งยังตอบโจทย์ให้บริษัทฯ คณะฯและตัวของผมเอง ผมดีใจที่จะได้ประสบการณ์ในการทำงานจริง ร่วมกับการเรียนรู้แก้ไขปัญหาที่เจอต่อหน้า ผมอยากบอกกับน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจ ถ้าเลือกมาศึกษากับโครงการนี้ ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ”
นางสาวกรกมล ขจร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ อยากเป็นวิศวกรที่ได้ทำผลิตภัณฑ์ พัฒนาแบบหรือกระบวนการผลิตสินค้าให้ดีขึ้น ถึงจะชอบนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ก็ชื่นชมนวัตกรรมเก่า คิดว่าคนรุ่นเก่าเขาก็เจ๋ง มีความคิดที่ก้าวไกล ทั้งที่ไม่มีเทคโนโลยีเหมือนในปัจจุบันนี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติไปด้วย จะทำให้ได้ประสบการณ์ เห็นความเป็นจริงมากขึ้น และเมื่อได้มาเห็นรายละเอียดโครงการ WiL ในเว็บไซต์ ทำให้มั่นใจมากขึ้น จึงสมัครเข้ามาเรียน สนใจที่จะปฏิบัติงานกับบริษัท ไทยคูณ สตีล ชอบแนวคิดของบริษัทฯ การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาโปรดักส์ หากได้เข้าไปฝึกงานที่บริษัทนี้ หวังว่าจะได้รับความรู้ในเรื่องกระบวนการทำงาน แนวคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ และที่สุดของความคาดหวังคือ การมีโอกาสได้พัฒนาแบบหรือผลิตภัณฑ์เหมือนพี่ๆ ในบริษัท อยากบอกน้องๆ ว่า WiL เป็นโครงการที่ดีมากๆ”
หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ หรือ IPE (Integrated Production Engineering) เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยทีมคณาจารย์ของคณะฯ ร่วมกับบริษัทชั้นนำพร้อมทำให้...ทำถึง...ให้นักศึกษาได้จบหลักสูตรเป็นบัณฑิตที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นวิศวกร Gen ใหม่ตอบโจทย์ทุกภาคอุตสาหกรรม
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
โทร. 02-329-8339
E-mail: industrial@kmitl.ac.th
ประชาสัมพันธ์ : PIMDAWAN
วันที่ ลงข่าว : 17-11-67
แสดงความเห็น